มัสยิดบางอ้อ
สีเหลืองอร่ามตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มัสยิดหลังนี้สร้างด้วยสถาปัตยกรรมผสมผสานแบบตะวันตกสมัยนิยมช่วงรัชกาลที่ 6 ผสานกับส่วนประกอบอาคารของศิลปะอิสลามอย่างหออะซานคู่ได้อย่างลงตัว
นอกจากสถาปนิกผู้ออกแบบมัสยิดบางอ้อจะสร้างให้ถูกต้องตามแกนทิศกิบละฮ์แล้ว ยังใส่ใจรายละเอียดโดยคำนึงถึงความสวยงามด้านภูมิสถาปัตยกรรมด้วย มัสยิดบางอ้อจึงได้รับการออกแบบให้ด้านหน้าของมัสยิดตั้งหันหน้าตรงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ใครที่ล่องเรือผ่านไปมาต่างเห็นมัสยิดบางอ้อหันหน้าออกสู่แม่น้ำแลดูสง่างาม
มัสยิดดารุล-อิหซาน
มูลนิธิมัสยิดดารุลอิหฺซาน เลขที่ 81 จรัญสนิทวงศ์ บางอ้อ, บางพลัด, กรุงเทพฯ จดทะเบียนจัดตั้งเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2518 โดยมี นายมานะ เพ็ชรทองคำ เป็นประธานคนแรก ดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปี
มีวัตถุประสงค์สำคัญ คือการส่งเสริม เผยแพร่ศาสนาอิสลามและวิชาการต่างๆทุกสาขา
มัสยิดนูรุ้ลอิสลาม (บางกระบือ)
มัสยิดนูรุลอิสลาม จัดตั้งมาตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ในขณะนั้นมีประชากรไม่มากนัก ส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดกรุงเทพมหานคร มัสยิดเดิมเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ทรงปั้นหยา หลังคามุงกระเบื้อง อาคารตั้งอยู่ชายคลองสิบสาม (สายกลาง) ฝั่งตะวันออก หมู่ที่ 6 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี อยู่รวมกันแบบพี่แบบน้องเป็นเวลาหลายสิบปี
ปัจจุบันอาคารมัสยิดได้ก่อสร้างไปได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ มีการสร้างหออาซาน ที่อาบน้ำละหมาด ห้องน้ำ ถมดินกุโบร์ และจัดทำรั้วกุโบร์ จัดตั้งศูนย์อบรมจริยธรรมอิสลามประจำมัสยิด โดยใช้ชั้นล่างของอาคารมัสยิดเป็นที่ทำการเรียนการสอน มีการเรียนการสอนภาคผู้ใหญ่ ผู้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลามใหม่ สอนอัลกุรอาน และภาคฟัรดูอัยน์
มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์
มัสยิดหลวงอันซอริซซุนนะห์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า สุเหร่าบางกอกน้อย / กุฎี หรือ กะดีบางกอกน้อย ตั้งอยู่ 60/1 ซ. ริมคลองบางกอกน้อย แขวงอรุนอมรินท์ เขตบางกอกน้อย กทม ชุมชนที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษนั้นก็ไม่ต่างกันมากนัก มุสลิมของเราส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่อพยพมาจากอยุธยา ซึ่งอพยพมาพร้อมๆกันกับที่บางกอกใหญ่ หลังกรุงแตกผู้คนก็อพยพกันมาตามลำน้ำ แล้วก็มาพักอยู่กันแถวบางอ้อ บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ และส่วนใหญ่มุสลิมจะอยู่กันตามริมน้ำเรียกกันว่า ‘แขกแพ’ ซึ่งจริงๆ แล้วก่อนหน้านี้เราไม่ได้อยู่ที่นี่ เราอยู่ฝั่งฝั่งรถไฟ และเรามีมัสยิดที่เราสร้างขึ้นเมื่อครั้งที่เราอพยพมาอยู่ในครั้งแรก ซึ่งเป็นสมัยก่อนรัชกาลที่ 5
เมื่อรัชกาลที่ 5 ต้องการพื้นที่ตรงนั้นสร้างทางรถไฟก็ขอแลกที่กัน และมีคนที่เป็นมุสลิมที่อยู่ติดท่าน้ำหรือเรียกทำเลดีขอแลกพื้นที่มาอยู่ติดมัสยิด ก็สงสัยว่ามีเลศนัยอะไรหรือเปล่า ทางราชการก็เลยให้คนมาสืบประวัติ และพบว่าเป็นความต้องการที่จะอยู่ใกล้ๆกับมัสยิด เพื่อสร้างผลบุญให้เกิดขึ้น และตอนหลังในหลวงก็ไม่ได้ว่าอะไร ก็เลยมีการแลกที่กัน และในหลวงก็มีการสร้างมัสยิดหลังใหม่ให้ จากนั้นเราก็ไปขอที่ดินเพิ่มอีกเพื่อจะทำโรงเรียน ก็ได้โรงเรียนราชการุญขึ้นมา และก็มีจารึกที่ว่าในหลวงพระราชทานที่ด้านตะวันออก ด้านตะวันตกเท่าไหร่และอีกส่วนหนึ่งเท่าไหร่สำหรับสร้างโรงเรียน ท่านเขียนไว้ 2 อัน จึงได้ชื่อว่าเป็นมัสยิดหลวงเพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงสร้างไว้ให้
มัสยิดจักรพงษ์
ในย่านบางลำพูมีชุมชนมุสลิมที่เก่าแก่ชุมชนหนึ่งที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์นามว่า ชุมชนตรอกสุเหร่า คนในชุมชนส่วนใหญ่อพยพมาจากทางภาคใต้ของไทย โดยมีความรู้ด้านการทำทองติดตัว ทำให้ชุมชนนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือที่สำคัญมาตั้งแต่อดีต และเป็นชุมชนชาวมุสลิมมีที่บทบาทสำคัญในด้านช่างฝีมือของกรุงรัตนโกสินทร์
มัสยิดถือเป็นสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม ทำให้คนในชุมชนตรอกสุเหร่าจึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างมัสยิดจักรพงษ์ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของชุมชน ทั้งในด้านศาสนา และการดำเนินชีวิต ด้วยชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมช่างฝีมือชั้นดี ทำให้มัสยิดจักรพงษ์ถูกรังสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง จนทำให้เป็นมัสยิดแห่งหนึ่งในเกาะรัตนโกสินทร์ที่ขึ้นชื่อเรื่องความสวยงามของฝีมือช่าง และเป็นสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของย่านบางลำพู